ด้วยพื้นที่ที่หลากหลายของประเทศไทยและความสามารถในการเติบโตได้ในหลายสภาพพื้นที่บนความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ มาดาวีพันธุ์ปาล์มขอสรุปเป็นแนวทางพื้นฐานสำหรับการนำไปประยุกต์ใช้ได้กับการปลูกทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็นหัวข้อหลักๆได้แก่
การเตรียมพื้นที่ การกำหนดระยะปลูก การขุดหลุม การรองก้นหลุมด้วยปุ๋ย การป้องกันศัตรูต้นกล้าในระยะเริ่มปลูก การเตรียมพื้นที่ นอกจากพื้นที่ปลูกแล้ว การทำถนนภายในแปลงก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อความสะดวกในการขนย้ายผลผลิตออกสู่ตลาดได้ง่าย พื้นที่น้ำไม่ขังหรือท่วม ก็สามารถไถดินเพื่อปรับปรุงดิน และตากดินให้ปราศจากเชื้อโรคมากที่สุด และสามารถทำการปลูกได้ทันทีในช่วงต้นฤดูฝน แต่หากเกษตรกรมีแหล่งน้ำสามารถรดน้ำได้ตลอดในช่วงฤดูร้อนก็สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล พื้นที่ที่มีน้ำขังหรือท่วม ควรทำการขุดร่องระบายน้ำ หรือปรับพื้นที่ให้น้ำไหลได้สะดวกมากที่สุดในฤดูฝนและสามารถกักเก็บน้ำไว้ในร่องน้ำได้บ้างในช่วงฤดูร้อน พื้นที่ราบสูง เนินเขา ควรทำเป็นพื้นที่ขั้นบันได เพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยวในระยะยาวและการขนส่งผลผลิตออกจากแปลง และควรวางแผนทางระบายน้ำให้เหมาะสมในฤดูฝนเพื่อลดการพังทะลายของดินและถนนภายในแปลง ถนนภายในแปลง ควรเข้าออกได้ทางเดียวเพื่อป้องกันการเข้ามาขโมยผลผลิต แต่ต้องมีถนนซอยภายในอย่างทั่วถึงเพื่อให้เครื่องจักรและแรงงาน สามารถเข้าไปเก็บผลผลิตหรือดูแลแปลงได้สะดวกมากที่สุด
การกำหนดระยะปลูก ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพพื้นที่ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของเกษตรกร ระยะที่ได้รับความนิยมกันคือ 9x9x9 เมตร หรือ 10x10x10 เมตร หากเป็นสายพันธุ์ที่มีทางใบยาว ต้นใหญ่ ทะลายใหญ่ ก็ควรปลูกที่ระยะ 10x10x10 ม. ในทางกลับกัน หากเป็นสายพันธุ์ที่มีทางใบสั้น ก็นิยมปลูกกันที่ระยะ 9x9x9 ม. เกษตรกรบางท่าน ทำแปลงเกษตรผสมผสานโดยใช้พื้นที่ระหว่างต้นปาล์มทำการเกษตรอย่างอื่นร่วมด้วย ปลูกในระยะ 11x11x11 ม.ก็มี ขึ้นกับสายพันธุ์และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่นั้นๆ การขุดหลุม ควรขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่กว่าถุงและลึกพอดีให้ดินปากหลุมเสมอกับดินในถุงปลูกหลังจากการปลูกเเล้ว การขุดหลุมใหญ่กว่าถุงนั้นเพื่อให้ดินรอบๆหลุมร่วนซุยรากของต้นกล้าสามารถงอกออกไปได้ง่าย ส่วนความลึกในการปลูกนั้นให้พอดีกับดินในถุงนั้นเพื่อป้องกันโครต้นกล้าจมทำให้ต้นโตช้าและอาจจะเกิดโรคต่างๆได้ง่าย
ในทางกลับกัน หากขุดหลุมตื้นเกินไป (ปลูกโคนลอย) ต้นกล้าอาจเกิดการล้มได้ง่ายและการเจริญเติบโตก็จะชงักไปด้วย การรองก้นหลุมด้วยปุ๋ย สารเคมีและธาตุอาหาร การรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยหมักก็จะเป็นการดีเพราะต้นกล้าสามารถใช้อาหารได้ง่ายในช่วงแรก โดยปกติจะใช้ปุ๋ยสูตร 0-3-0 ปริมาณ 500 กรัม หรือ หากสามารถใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ ก็จะยิ่งดีมาก การป้องกันศัตรูต้นกล้าในระยะเริ่มปลูก เมื่อปลูกเสร็จ ควรฉีดป้องกันแมลงปีกแข็งด้วยสารเคมีชื่อ แลมด้า-ไซยาโลทริน ชื่อทางการค้า วันโชเป้ และโรยสารเคมีชื่อ พริโฟนิล (เกล็ดสีชมพู) ชื่อทางการค้า ดิลิเกท0.3จี บริเวณโคนต้น และยอดต้นก็ได้เพื่อป้องกันการกัดกินของด้วงและสัตว์อื่นๆ และหมั่นตรวจแปลงต้นกล้าทุกสัปดาห์ หากมีการรบกวนของแมลงหรือโรคพืชอื่นๆ สามารถถ่ายรูปและส่งมาปรึกษากับทางบริษัทได้